วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ผญาภูมิปัญญาชาวอีสาน

  "ผญา" หมายถึง ปัญญา, ปรัชญา, ความฉลาด, คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง (wisdom, philosophy, maxim, aphorism.)ผญา คือ คำคม สุภาษิต หรือคำพูดที่เป็นปริศนา คือฟังแล้วต้องนำมาคิด มาวิเคราะห์ เพื่อค้นหาคำตอบที่เป็นจริงและชัดเจนว่า หมายถึงอะไร ผญา เป็นคำพูดที่คล้องจองกัน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีสัมผัสเสมอไป แต่เวลาพูดจะ ไพเราะสละสลวย และในการพูดนั้นจะขึ้นอยู่กับจังหวะหนักเบาด้วย ผญา เป็นการพูดที่ต้องใช้ไหวพริบ สติปัญญา มีเชาวน์ มีอารมณ์คมคาย พูดสั้นแต่กิน ใจความมาก
  " อย่าได้เว้าฟู่ฟู่ขวัญเพิ่นเป็นกระดัด
อย่าได้มีโทโสใส่เขาขมฮ้าย
อย่าได้มัวเมาต้านติเตียนขวัญผู้อื่น
โทษเขามีถ่อก้อยอย่าเทียวเว้าถ่อฝ่ามือ
อย่าได้ถือเขาพุ้นเป็นใจมันบ่แม่น
แม่นโทษเขามีถ่อฟ้าอย่าจาเว้าให้ป่วยการ
เขาบ่แถมพรให้ทุนฮอนเบี้ยบาท
แม่แต่แถมโทษให้เฮาได้เมื่อลุน "  
      คำแปล    ผญาบทนี้เป็นการสั่งสอนคนไม่ให้ไปนินทาหรือไปยุ่งเรื่องของคนอื่น การทำตัวยุ่งเรื่องของคนอื่นเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขากระทำความผิดแค่นิดเดียวแต่เราก็ไปขยายความว่าเขามีความผิดมากมาย ถึงแม้เขาจะมีความผิดจริงหรือกระทำความผิดอย่างรุนแรงก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายบ้านเมืองให้ดำเนินการ หรือปล่อยให้สังคมลงโทษเขาเอง 

        เมื่อใดถ้าเราถลำตัวหลงไปยุ่งเกี่ยว ไปวุ่นวาย ไปนินทา หรือไปดุด่าเขาคนที่เราตำหนิเขาย่อมไม่พอใจ สักวันเขาอาจจะทำร้ายเราวันหลังก็ได้ เป็นคำสอนคล้ายกับสุภาษิตสำนวนไทยที่ว่า
          " พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น